กองช่าง เทศบาลตำบลโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติเพลงโคราช


 ประวัติของเพลงโคราช

ประวัติ ของเพลงโคราชนั้นมีการเล่าขานกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งชื่อ เพชรน้อย ออกไปล่าสัตว์ ในเขตหนองบุนนาก บ้านหนองบุนนาก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา คืนหนึ่งแกไปพบลูกสาวพญานาค ขึ้นมาจากหนองน้ำ มานั่งร้องเพลงคนเดียว พรานเพชรน้อยได้ยินเสียง จึงแอบเข้าไปฟังใกล้ ๆ แกประทับใจ ในความไพเราะ และเนื้อหาของเพลง จึงจำเนื้อและทำนองมาร้องให้คนอื่นฟัง ลักษณะเพลงที่ร้องเป็นเพลงก้อม หรือเพลงคู่สอง

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ชาวโคราชได้เพลงโคราชมาจากอินเดีย โดยพระยาเข็มเพชรเป็นผู้นำมาพร้อมๆ กับลิเก และลำตัด โดยให้ลิเกอยู่กรุงเทพฯ ลำตัดอยู่ภาคกลาง และเพลงโคราชอยู่ที่นครราชสีมา เพลงโคราชระยะแรกๆ เป็นแบบเพลงก้อม คนที่เรียนรู้เพลงโคราช จากพระยาเข็มเพชร ชื่อตาจัน บ้านสก อยู่ "ซุมบ้านสก" ติดกับ สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ

ตำนานทั้งสองถึงเม้จะต่างกันในด้านกำเนิดแต่ตรงกันอย่างหนึ่งที่กล่าวว่าเพลงโคราชระยะแรกเล่นแบบเพลงก้อม

ก้อม เป็นภาษาโคราชและภาษาอีสาน แปลว่า สั้น เพลงก้อมหมายถึง เพลงสั้น ๆ ว่าโต้ตอบกล่าวลอย ๆ ทั้งที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือไม่มีความหมายเลยก็ได้

เพลง โคราชจะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีเพียงว่า สมัยท้าวสุรนารี ( คุณย่าโม ) ยังมีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2313 ถึง 2395 ) ท่านชอบเพลงโคราชมาก เรื่องราวของเพลงโคราชได้ปรากฏหลัดฐานชัดเจน คือในปี พ.ศ. 2456 ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมานครราชสีมาทรงเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จไปพิมาย ในโอกาสรับเสด็จครั้งนั้น หมอเพลงชายรุ่นเก่าชื่อเสียงโด่งดังมากชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า ได้มีโอกาสเล่นเพลงโคราชถวาย เพลงที่เล่นใช้เพลงหลัก

เพลงโคราชมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่งในงานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 1 ในนามการแสดงมหรสพของมณฑลนครราชสีมา เกี่ยวกับกำเนิดของเพลงโคราช มีทั้งที่เป็นคำเล่าและตำนานหลักฐานจากคำบอกเล่าของหมอเพลงอีกจำนวนหนึ่ง เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมรครั้งไร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะ  ด้วยการขับร้องและร่ายรำกันในหมู่สกที่เขาเรียกว่า " ซุมบ้านสก " ใกล้ ๆ กับชุมทางรถไฟ ถนนจิระและเริ่มเล่นเพลงโคราชกันที่หมู่บ้านนี้ ท่าทางการรำรุกรำถอย และการป้องหู มีผู้สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง ที่เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ผสมผสาน กับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง

ประเภทของเพลงโคราช


การแบ่งประเภทของเพลงโคราชนั้น แบ่งได้หลายวิธี พอจะแยกกล่าวได้ดังนี้

  แบ่งตามโอกาสที่จะเล่น ได้ 2 ประเภท

เพลงอาชีพ ได้แก่ เพลงโคราชที่เล่นเป็นอาชีพ มีการว่าจ้างเป็นเงินตามราคาที่กำหนด เพลงประเภทนี้จะเล่นในงานฉลองหรือสมโภชต่าง ๆ เช่น งานศพ งานบวชนาค ทอดกฐินงานประจำปี หรือเล่นแก้บน ผู้ประกอบอาชีพเพลงโคราชนี้เรียกว่า " หมอเพลง" การเล่นจะเล่นเป็นพิธีการ มีเวที การแต่งกายตามแบบของหมอเพลงและมีการยกครูเป็นต้น
เพลงชาวบ้าน เพลงประเภทนี้ เป็นเพลงของชาวบ้านที่ร้องเล่นกันในยามว่างงานเพื่อความสนุกสนาน เช่น ในงานลงแขก ไถนา หรือเกี่ยวข้าว หรือพบปะพูดคุยกันในวงสุราชาวบ้านที่ว่าเพลงได้ จะว่าเพลงโต้ตอบกันเพื่อความสนุกสนาน ไม่มีพิธีรีตรอง ไม่ต้องสร้างเวทีหรือ " โรงเพลง " และไม่มีการแต่งกายแบบหมอเพลงอาชีพ

  แบ่งตามวิวัฒนาการของเพลงโคราช ตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่เพลงสั้น ๆ มาจนถึงเพลงยาว ๆ ที่ใช้เล่นกันในปัจจุบันนี้แบ่งได้ 5 ประเภท คือ


2.1 เพลงขัดอัน เป็นเพลงสั้น ๆ มีสัมผัสอยู่แห่งเดียว คือ ระหว่างวรรคที่ 1 กับวรรคที่ 2 เท่านั้น ส่วนวรรคที่ 3 และ 4 ไม่มีสัมผัส ( สัมผัสที่ใช้เป็นสัมผัสสระ ) เช่น
2.1.1 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วถั่ว
เมิ้ดบุญผัวแล้ว เหมือนไข่ไก่ร่างรัง
2.1.2 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วหมี่
รู้ว่ากินไม่เมิ้ด มึงจิขั่วมากทำไม
( ในข้อ 2.1.2 นี้ จะเห็นได้ว่ามีการเล่นอักษรเพิ่มเข้ามาแต่ยังไม่บังคับ ลักษณะนี้จะกลายเป็นสัมผัสบังคับในสมัยหลัง )
2.2 เพลงก้อม เป็นเพลงสั้น ๆ เช่นเดียวกับเพลงขัดอัน แต่เพิ่มสัมผัสในระหว่างวรรคที่ 3 และ 4 ซึ่งไม่มีในในเพลงขัดอัน เช่น
ทำกะต้องกะแต้ง อยู่เหมือนกะแต๋งคอกะติก
ขอให่พี่ซักหน่อย จะเอาไปฝากถ่วยน่ามพริก

2.3 เพลงหลัก เป็นเพลงที่เพิ่มจำนวนวรรคจาก 4 วรรคในเพลง 2 ประเภทต้นมาเป็น 6 วรรค เพลงประเภทนี้จะเห็นว่าการเริ่มใช้สัมผัสประเภทอักษรเด่นชัดขึ้นเช่น

2.3.1 อันคนเราทุกวัน เปรียบกันกะโคม
พอคนโห่ควันโหม ก็ลอยบนเวหา
พอเมิ้ดควันโคมคืน ก็ต๊กลงพื้นสุธา...ใหญ่
2.3.2 เกษาว่าผม แก่แล้วบานผี
เมื่อผมดำงามดี ก็ลับมาหายดำ
ไม่เป็นผลดีดอกผม จะไม่นิยมมันทำ...ไม

2.4 เพลงสมัยปัจจุบัน คือเพลงที่ใช้ร้องเล่นกันในปัจจุบัน มีขนาดยาวกว่าสมัยก่อน ๆ แต่ถ้าร้องจะร้องช้าบางทีจังหวะไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับผู้ร้อง ร้องช้าหรือร้องเร็วไม่สม่ำเสมอเช่น

โอ้โอ่
...... ประเทศของไทยเราถึงคราวแคบ มันต้องมีคนแอบดอกนาพี่เอย
.......คนแฝงเพลงโคราช สมัยเจริญจ้างเป็นเงินมาก็แพง .......เองจะว่ากันยังไงจะถูกใจคนฟังขอให้หนุ่มนำหน้าพอ
.......เหนื่อยมาจะนำนอน ถ้าเข่าใจครรไลจร ให้ชี่นิ่วนำทาง
.......อุปมาเหมือนยังพระ.....เดินนำเณร (ตบมือ)
สมัยวิวัฒน์พัฒนา เขาก้าวหน่ามิใช่น่อย
มาฉันจะเดินซ่อนรอย ขอแต่ให้พี่ชายนำ
ถ้ายังไม่จรจะนำไปถึงจุ๊ด ฉันคงไม่ยุ๊ดพยายาม
จะนำน้องเข่าไปเขาใหญ่ หรือดงพญา....เย็น

2.5 เพลงจังหวะรำ เพลงประเภทนี้ เป็นที่ใช้ร้องกันอยู่ในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2.4 แตกต่างกันที่ตรงจังหวะรำนี้จะเล่นสัมผัสมาก และสม่ำเสมอ สามารถเคาะจังหวะตามได้ และขณะที่ร้อง ผู้ร้องจะรำขย่มตัวไปตามจังหวะเพลงด้วย โดยจะเริ่มรำเมื่อว่าไปแล้วประมาณ 4 วรรค เพราะใน 4 วรรคต้นนี้จังหวะยังไม่กระชั้นหรือคงที่ อาจช้าบ้างเร็วบ้าง จะรำด้วยก็ได้แต่เป็นการรำช้า ๆ ไปรำจังหวะเร็วที่วรรคที่ 5 - 8 เป็นการจบท่อนแรก พร้อมทั้งตบมือ 1 ครั้ง พอขึ้นท่อนที่ 2 จะร้องช้าลงเพื่อเตรียมจบหรือเตรียมลง การรำหลอกล่อกันระหว่างชายและหญิง คือถ้าฝ่ายชายร้อง ฝ่ายหญิงก็จะรำด้วย ถ้าฝ่ายหญิงร้องฝ่ายชายก็จะรำด้วย การรำจึงเป็นการรำทีละคู่

  แบ่งตามลักษณะกลอน จะได้เป็น 5 ประเภทคือ เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ เพลงคู่แปด และเพลงคู่สิบสอง การแบ่งเช่นนี้ เป็นการกำหนดประเภทคล้ายแบบที่แบ่งตามวิวัฒนาการนั่นเอง คือเพลงคู่สองกับคู่สี่ เป็นเพลงก้อม ส่วนเพลงคู่หก กับคู่แปดเป็นเพลงที่ใช้ร้องกันในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ในด้านจำนวนคำในวรรค ส่วนเพลงคู่สิบสองนั้นเป็นเพลงที่ดัดแปลง มาจากเพลงคู่แปด โดยเพิ่มจำนวนคำ ในวรรคมากขึ้น และร้องเร็วมาก จังหวะถี่ยังไม่แพร่หลายนักในปัจจุบัน เพราะหมอเพลงส่วนใหญ่ จะคิดคำไม่ทัน กับที่ต้องว่าเร็ว ๆ จึงปรากฎให้เห็น เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แบ่งตามเนื้อหาของเพลง จะได้หลายชนิด เช่น เพลงเกริ่น เพลงเชิญ เพลงไหว้ครู เพลงถามข่าว เพลงชวน เพลงชมนกชมไม้ เพลงเกี้ยวเพลงเปรียบ เพลงสาบาน เพลงด่า เพลงคร่ำครวญ เพลงสู่ขอ เพลงเกี้ยวแกมจาก เพลงจาก เพลงลา เพลงพาหนี เพลงปลอบ เพลงไหว้พระ เพลงตัวเดียว เพลงเรื่อง ( นิทาน ) เป็นต้น

เนื้อหาของเพลงโคราชมีหลายรส ทั้งคำสั่งสอนคำด่า  กระทบกระเทียบเปรียบเปรยและกล่าวเป็นนัยถึงเรื่องเพศ เป็นการใช้ภาษาเชิงสัญลักษณ์  และการใช้คำตรงๆ  จนคนที่ไม่ชิน กับเพลงปฎิพากย์พื้นบ้าน ฟังไม่ได้ เพราะเห็นว่า  หยาบโลนจนเกินไป  ถ้าผู้ฟังเพลงชอบใจ จะโห่ฮิ้วแทนการปรบมือ

เนื้อหาของเพลงโคราชเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้

    1. สุภาษิต และคำสั่งสอน
    2. เจตคติต่อสังคม
    3. ความเชื่อถือและค่านิยม
    4. ความเป็นอยู่ อาชีพ และสภาพสังคม
    5. วรรคดีไทย
    6. นิทานพื้นบ้านและนิทานชาดก
    7. ประวัติศาสตร์และวีรสตรีไทย
    8. การใช้ปฏิภาณไหวพริบในการพูดจาโต้ตอบกัน
    9. ความรัก
  10. ธรรมในพุทธศาสนา
           
เนื้อหาของเพลงโคราช  

ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น และบางครั้ง ก็แล้วแต่เจ้าภาพที่หาเพลงโคราชไปเล่น  เป็นผู้กำหนดว่าจะให้เล่นเรื่องอะไร หมอเพลงโคราชรุ่นเก่า จะเน้นเรื่องการใช้ปฏิภาณไหวพริบ นิทานชาดก และเคร่งครัดมากในเรื่องสอนศีลธรรม     หมอเพลงโคราชรุ่นใหม่ มักจะเล่นตามคำเรียกร้องของผู้ฟัง และบางคน ไม่เคร่งครัดในเรื่องศีลธรรมมากนัก

ข้อสังเกตุว่า   วัดหลายแห่งในชนบทของนครราชสีมา เช่นที่   อำเภอพิมาย และอำเภอจักราช เวลาเทศน์มหาชาติ  จะมีการแหล่ประกอบ เพลงแหล่เหล่านั้น จะต้องมีเพลงโคราชควบอยู่เสมอ

การเขียนกลอนเพลงโคราช
 
แม้จะทราบว่า คณะสัมผัสของเพลงโคราชเป็นอย่างไร แต่การเขียนกลอนหรือแต่งกลอน ไม่อาจกระทำได้ง่ายนัก การบรรจุคำลงตามคณะ ให้ถูกต้องสัมผัสบังคับได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถร้องเป็นทำนองได้ เช่นเดียวกันกับที่ปรากฏในวรรณคดีบางประเภท โดยเฉพาะวรรณคดีการละคร ว่ามีกลอนบทละครบางเรื่อง ที่ไม่สามารถนำไปร้องหรือเล่นละครได้จริง เพราะแม้จะถูกต้องตามสัมผัสบังคับทุกประการ แต่ลีลาของกลอน ไม่สอดคล้องกับทำนองการร้อง

เพลงโคราชก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะเขียนกลอนโคราชได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักทำนองจังหวะ และลำนำของเพลงโคราชได้ว่าเป็นอย่างไร ต้องจำได้แม่นว่า ลำนำทำนองและจังหวะเป็นอย่างไร นั่นย่อมหมายถึงว่า ผู้ที่จะจดจำลำนำจังหวะและทำนองได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่เคยฝึกหัดร้องเพลงโคราชให้จำได้มากๆ หมั่นฝึกฝน จนรู้เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงสั้น เสียงยาว     และฟังจังหวะแม่นยำ หรือเคยชิน เมื่อได้สัมผัสกับกลอนเพลงบ่อยๆ ก็จะจำได้ขึ้นใจ เมื่อจะแต่งกลอน หรือนึกกลอนใหม่ ก็ใช้คำไปตามทำนอง หรือจังหวะที่จำได้นั้นเป็นเกณฑ์ ดังนั้นแม้หมอเพลงโคราช จะไม่ได้เรียนหรือศึกษาเกี่ยวกับคณะสัมผัส หรือลักษณะกลอนเพลงโคราช ในภาคทฤษฎี แต่จากการท่องกลอนบ่อยๆ ฝึกหัดว่าเพลงด้วยความพยายาม ก็จะรู้ได้ว่า คำคล้องจองหรือสัมผัส และลีลาของเพลงเป็นอย่างไร ถ้าหากมีความรู้การใช้คำ หรือมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา ก็จะสามารถหาคำ มาใส่ในกลอน ให้สามารถร้องเป็นเพลงได้ ครูเพลงทั่วไป จึงแต่งกลอนเพลงได ้ในลักษณะเขียนไปตามลีลานี้ หรือหมอเพลง ที่มีประสบการณ์พอสมควร จะสามารถด้นกลอนหรือว่ากลอนสดได้ทันที ส่วนที่ยังไม่ชำนาญ ใช้วิธีท่องจำกลอนเพลงให้ได้มากๆ จึงจะสามารถสังเกตได้ว่า หมอเพลงคนเดียวกัน ถ้าเขาเล่นต่างโอกาส ต่างสถานที่ มักจะมีเนื้อร้อง และทำนองซ้ำๆ กันอยู่มาก หรือสังเกตได้อีกว่าหมอเพลงหลายๆ คน ที่เรียนมา จากครูคนเดียวกัน ก็จะมีลีลาการร้อง ทำนอง จังหวะเพลงคล้ายคลึงกัน 

สำหรับผู้ที่จะฝึกหัดเขียน หรือแต่งกลอนเพลงโคราช ก็จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันคือ ศึกษาส่วนประกอบต่างๆ ของเพลงโคราชให้เข้าใจ และต้องร้องเพลงโคราชได้ เมื่อเขียนมาแล้วก็ลองร้องดู ถ้าตรงไหนใช้เสียงผิดไป จากลีลาของเพลง ก็สามารถแก้ไข หรือปรับเข้ากับลีลานั้นได้ 

วิวัฒนาการของการเล่นเพลงโคราช

การฝึกเพลงโคราช
          การฝึกเพลงโคราชนั้น        ส่วนใหญ่ผู้มีใจรักในการที่จะเป็นหมอเพลงแล้ว      มักไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับครูเพลงโดยตรง          มีบางรายที่
บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ต้องการให้ลูกเป็นหมอเพลงก็นำไปฝากกับครูเพลง และบางรายที่ครูเพลง เห็นว่ามีแววจะเป็นหมอเพลงที่ดี ก็มักจะขอตัวไปอยู่ด้วย ครูจะดูหน่วยก้านของผู้ที่จะเป็นศิษย์ ดูกิริยาท่าทาง เสียงและปฏิภาณ การทดสอบเพื่อรับเป็นลูกศิษย์ อาจทำได้โดย ให้ร้องว่าเพลงก้อมให้ฟัง ถ้าเห็นว่ามีแวว พอจะเป็นหมอเพลงได้ ก็รับไว้ ก่อนจะหัดต้องมีการยกครูก่อน

อุปกรณ์ที่จะใช้คือ
    1. กรวย 6 กรวย ( ลักษณะเป็นกรวยก้นแหลม )
    2. ดอกไม้ขาว 6 คู่
    3. เทียน 6 เล่ม
    4. ธูป 6 ดอก
    5. ผ้าขาว 1 ผืน ยาวประมาณ 4 ศอก
    6. เงิน 6 บาท บางครูก็ 12 บาท
  
         เมื่อรับไว้เป็นศิษย์แล้ว ผู้ที่จะหัดเพลง ก็จะพักอยู่ที่บ้านครู ช่วยครูทำงานในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนจะต่อเพลงกับครู ซึ่งเป็นการต่อเพลงแบบปากต่อปาก ไม่มีการเขียนหรือจดไว้ เพราะคนในสมัยก่อน มีผู้รู้หนังสือน้อย หมอเพลงที่มีชื่อเสียงมากในยุคก่อน บางคนไม่รู้หนังสือ การต่อกลอนในลักษณะนี้จะต่อกันคืนละ 1 กลอนเท่านั้น ศิษย์จะต้องท่องจนขึ้นใจ และต้องว่าให้ครูฟังในตอนเช้า ก่อนที่จะออกไปทำงานให้ครู ถ้าจำไม่ได้ก็จะต้องต่อกันใหม่ในคืนต่อไป จนกว่าจะจำได้ นอกจากจะต่อกลอนแล้ว ครูยังให้ฝึกการเอื้อนทำนอง และออกเสียงตัวกล้ำ   "ร   ล"    อีกด้วย

         ศิษย์คนใดมีความจำดี มีปฏิภาณ ก็อาจจะใช้เวลาเรียนไม่นาน 1 - 2 ปี ก็ออกเล่นได้ แต่บางคนเรียนช้า อาจใช้เวลาถึง 10 ปี เนื้อหาที่เรียนนั้น ถ้าเป็นผู้หญิง จะเรียนเฉพาะกลอนเพลง ถ้าผู้ชายจะเรียนคาถาอาคมด้วย ในสมัยก่อนพวกผู้ชาย ก่อนที่จะออกแสดง จะต้องทำพิธีเข้ากรรมในโบสถ์ เป็นเวลา 7 วัน กินข้าววันละ 7 ปั้น วันแรกต้องทำน้ำมนต์ไว้ดื่ม และต้องกินพริกไทพันเม็ด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปัญญาดีว่าเพลงออก ในระหว่างที่เข้ากรรม 7 วัน นี้ห้ามว่าเพลง เพราะทำให้กรรมแตก เรียกว่าถ้าใครกรรมแตก มักจะมีอันเป็นไป ผู้เข้ากรรม แต่ละคนจะมีไก่สีขาว เรียกว่าไก่ชี ไว้เสี่ยงทาย ในระหว่างที่เข้ากรรมไก่ของใครคึก เจ้าของไก่ มักจะเป็นหมอเพลงที่มีชื่อต่อไป ถ้าไก่ของใครหงอย เจ้าของมักจะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพหมอเพลง

           
ลักษณะเวทีเพลงโคราช              
          ในสมัยก่อนนั้นการเล่นเพลงโคราชไม่จำกัดสถานที่   อาจเล่นบนบ้านหรือลานบ้านก็ได้ เพียงแต่นำครกตำข้าว (ครกซ้อมมือ) มาวางคว่ำลง แล้วหาถังตักน้ำวางไว้บนครกนั้น เพื่อให้หมอเพลงได้ดื่มแก้คอแห้ง ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าแสงสว่าง ชาวบ้านมักจะทำไต้ช้าง หรือไต้รุ่งให้แสงสว่างแทน ลักษณะของไต้ช้างหรือไต้รุ่ง ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 5 ศอก ปลายข้างหนึ่งจักด้วยมีด แผ่ออกสานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปกระทะใส่ดินกรุ ใส่ชันผสมไม้ผุ ๆ หรือแกลบ จุดให้แสงสว่าง ปลายอีกข้างหนึ่งฝังดินใกล้ ๆ กับครก ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ หรือตะเกียงลาน จุดแทนไต้รุ่ง เวที ก็เปลี่ยนมาเป็นลำดับ คือ มีเสา 4 เสา ยกพื้นปูกระดาน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร หลังคามุงด้วยก้านมะพร้าว ที่กลางพื้นเวทีก็ยังมีถังใส่น้ำตั้งอยู่เช่นเดิม เมื่อก่อน ที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น หมอเพลงต้องเสียงดัง พอที่จะฟังได้ยิน แต่ปัจจุบันสิ่งที่ช่วยให้แสงสว่าง ในการเล่นเพลงโคราชคือ ไฟฟ้าและมีเครื่อขยายเสียง ที่ดังกว่าเสียงหมอเพลงในครั้งก่อน ๆ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ฟังและหมอเพลง

พิธีไหว้ครู
          ก่อนขึ้นเวที หมอเพลงจะไหว้ครูก่อน เครื่องไหว้ครู ซึ่งเจ้าภาพเป็นผู้หามาให้ ประกอบด้วย ผ้าขาว 1 ผืน กรวยพระ 6 กรวย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงินค่ายกครู 6 บาท สำหรับงานธรรมดา ส่วนงานศพ 12 บาท ผ้าขาวนั้นจะได้คืนจากหมอเพลง เมื่อเสร็จงานแล้ว หมอเพลงจะไหว้ครูทุกวัน โดยหัวหน้าที่ไป จะเป็นผู้นำไหว้ หลังจากแต่งตัวเสร็จก่อนขึ้นเวที การไหว้ครู หมอเพลงจะไหว้บุพการี และบางคนก็ไหว้พญามารด้วย คือขอให้พญามาร ทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ย่อยยับ จำกลอนไม่ได้ ในบทไหว้ครูก็ดูไม่จริงจัง และแทรกอารมณ์ขัน ไว้มาก

การแต่งกายของหมอเพลงโคราช

          ผู้ชาย ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าที่จะนำมานุ่งส่วนใหญ่ จะเป็นผ้าไหมหางกระรอก ซึ่งเป็นผลิตผลของชาวโคราชผลิตกันขึ้นมาเอง หรือบางทีก็ใช้ผ้าม่วงแทนก็มี เสื้อที่ใช้นั้น เป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น สีไม่จำกัด มีผ้าขาวม้าคาดเอว ภาษาโคราชว่าใช้ผ้าขาวม้า "เคียนพุง" เครื่องประดับอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว ส่วนใหญ่ไม่มี หมอเพลงบางคนก็แขวนพระเครื่องบ้าง 
          ผู้หญิง      นุ่งผ้าโจงกระเบน เหมือนหมอเพลงผู้ชาย ผ้าที่ใช้นุ่งก็เป็นผ้าไหมหางกระรอกหรือผ้าม่วง     เสื้อนิยมสวมเสื้อรัดรูป ไม่มีปก แขนสั้น ในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้ารัดอก และใช้ผ้าสะไบเฉียง พาดไหล่ นอกจากนี้บางคนนิยมใช้พลูจีบทัดหู      ทั้งนี้เพราะผู้หญิงไม่รู้จักชายหูชายตา ครูเพลงเลยสอน ให้หัดชำเลืองดูพลูจีบที่ทัดหู

ท่ารำ
    ท่ารำพอจะจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
    1. ท่ารำช้า    ลักษณะการรำผู้ชาย จะกางแขนทั้งสองข้างออกพองาม มือแบออกรำขึ้นลงข้างต้น ส่วนขา ย่างตามจังหวะ ของกลอนเพลง สมัยก่อนผู้ชายจะวาดวงแขนกว้าง ผู้หญิงรำเหมือนฝ่ายชาย ต่างกันที่จีบมือ และวงแขนแคบ

    2. ท่ารำเร็ว    ฝ่ายชายจะรำเหมือนท่ารำช้า แต่เร่งจังหวะการรำให้เร็วขึ้นตามกลอนเพลง อีกทั้งต้องรำรุดหน้า เข้าหาฝ่ายหญิง ทำนองว่า จะเข้าไปถูกเนื้อต้องตัว ท่ารำเหมือนท่ารำช้า เมื่อฝ่ายชายรุกมา หญิงก็จะรำถอยหนี มือทั้งสอง ต้องคอยรำปัดป้อง มิให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม
มีข้อห้ามสำหรับหมอเพลง ฝ่ายชาย จะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้
ปรัชญาเบื้องหลังท่ารำ มีว่า การที่ผู้ชายวาดวงแขนกว้าง เป็นการแสดงการปกป้อง คุ้มครองฝ่ายหญิง ผู้หญิงวาดวงแขนแคบ แสดงการฉอเลาะ ตอนแรกชายจะรุกหญิงถอย และตอนหลังหญิงจะรุก ชายถอย แสดงว่าหญิงจะชนะทุกครั้ง ในเรื่องเพศ
           

ลำดับขั้นของการเล่นเพลงโคราช
    การเล่นเพลงโคราชซึ่งกลอนเพลงมีชื่อเรียกตามเนื้อหาต่างๆ แต่พอจะสรุปการเล่นเป็นขั้น ๆ ได้ดังนี้
  1. เพลงเกริ่น ฝ่ายชายจะขึ้นเวทีก่อน บอกเกริ่นให้รู้ถึงเหตุที่จัดให้มีการเล่นเพลงขึ้นเพื่ออะไร งานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพ มีจุดประสงค์อย่างไร        ให้ผู้ที่มาฟังได้ทราบ และอาจมีการขออภัยผู้ชมก่อน ถ้าสุ้มเสียง หรือการแสดง บกพร่อง
  2. เพลงเชิญ ฝ่ายชายจะต้องร้องเชิญให้ฝ่ายหญิงลงจากเรือนมาเพื่อว่าเพลงกับตน
       เพลงตัดเชิญ ฝ่ายหญิงจะร้องแก้ว่าการที่ลงมาช้าเพราะเป็นผู้หญิงก็ต้องแต่งกายให้สวยงาม อาจล่าช้าไปบ้างต้องขออภัย
  3. เพลงถามข่าว ฝ่ายชายจะถามผู้หญิงว่า ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน มีอาชีพอะไร
  4. เพลงเปรียบ เป็นเพลงที่ทั้งสองฝ่ายกระทบกระเทียบเสียดสีซึ่งกันและกัน
  5. เพลงไหว้ครู ร้องเพื่อระลึกถึงครู อาจารย์ซึ่งนำความรู้สั่งสอนมา ไหว้ทั้งคุณพระรัตนตรัย และพญามาร
  6. เพลงปรึกษา หลังจากไหว้ครูแล้ว ก็จะปรึกษากันว่าจะเริ่มเล่นเรื่องอะไรก่อนดี
  7. เพลงเกี้ยว เพลงเกี้ยวนี้มีหลายอย่าง ทั้งเกี้ยวธรรมดาและเกี้ยวหลอก ๆ
  8. เพลงชวน เกี้ยวแล้วเมื่อชอบพอกัน ก็ชวนกันหนีหรือชวนไปชมนก ชมไม้
  9. เพลงชมธรรมชาติ พรรณนาความงามของธรรมชาติ
10. เพลงเรื่อง เป็นเพลงที่เล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เรื่องเวสสันดร สุภมิต เกสินี เป็นต้น
11. เพลงลองปัญญา เป็นการซักถามประวัติของบางสิ่งบางอย่าง เพื่อทดสอบปัญญา
12. เพลงเกี้ยวแกมจาก ฝ่ายหญิงและชายสั่งลากันอวยชัยให้พรฝ่ายตรงกันข้าม   บางทีก็ชวนไปอยู่ด้วยกัน
13. เพลงปลอบ เป็นเพลงที่บอกอย่าให้เสียอกเสียใจเมื่อลา
14. เพลงจาก เป็นเพลงที่บอกถึงความจำเป็นต้องจากลา
15. เพลงคร่ำครวญ แสดงถึงความรันทดในการพลัดพรากจากกัน
16. เพลงให้พร เป็นการให้พรเจ้าภาพ ผู้ดู รวมถึงหมอเพลงด้วยกัน
17. เพลงลา กล่าวลาเจ้าภาพ ผู้ดู และหมอเพลงที่ร่วมเล่นด้วยกัน
  
         เพลงโคราชสมัยปัจจุบันอาจจะมีการแสดงอื่น ๆ เข้าแทรกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้ฟังคลายความล้าจากการฟัง หรืออาจเป็นการแทรกเพื่อทำตามคำขอผู้ชมก็ได้ เช่นแทรกลำตัด เพลงฉ่อย หมอลำ เพลงลูกทุ่ง แหล่ ฯลฯ ในยุคก่อนนั้น จะมีการแทรกเพียงแหล่โคราชเท่านั้น แต่ต่อมา อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของการแสดงอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทขึ้น จึงทำให้มีการผสมผสานทางด้านการแสดงกันมากขึ้น
  
ความเชื่อในการเล่นเพลงโคราช
          ส่วนใหญ่หมอเพลงจะมีความเชื่อในเรื่องโชคลางพอสมควร เช่นในการก้าวขึ้นโรงเพลง จะมีการดูทิศ ตามฤกษ์รับ ก้าวแรกที่ขึ้น จะต้องเลือกดูตามทิศทาง โดยการหายใจ ถ้าข้างซ้ายคล่อง ก็ก้าวขาซ้ายขึ้น ทำนองเดียวกัน ถ้าข้างขวาหายใจสะดวก ก็ก้าวข้างขวาขึ้น เป็นต้น เมื่อขึ้นเวทีไปแล้ว ก็มีการเป่าคาถามหานิยม เพื่อให้ผู้ฟังชื่นชอบตนก็มี หมอเพลงบางคนเชื่อว่าหลังคาโรงเพลงนั้น ถ้าหากมีการมัดด้วยตอก หรือสิ่งอื่นใดจะทำให้คาถาอาคม สติปัญญาในการว่าเพลงเสื่อมลงไปด้วย ก็ขอร้องให้แก้มัดตอกออกก็มี 

เพลงโคราชจากอดีตสู่ปัจจุบัน

สมัยก่อนนั้น เพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก เพราะการแสดงมหรสพ ที่เป็นหัวใจของงานฉลองสมโภชใด ๆ ก็ตาม มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว คนฟังเพลงก็มีเวลามาก ฟังกันตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเช้า เมื่อหมอเพลงเล่นเพลงลา คือลาผู้ฟังลาเจ้าภาพ และเพื่อนหมอเพลงด้วยกัน จะมีปี่พาทย์ ฆ้อง กลอง บรรเลงรับ หมอเพลงจะรำตามกัน ไปยังบ้านเจ้าภาพ เจ้าภาพก็นำเงินค่าหมอเพลงมาให้ พร้อมทั้งเลี้ยงข้าวปลา อาหาร และห่อข้าว   ของกินต่าง ๆ ให้เป็นเสบียง ในการเดินทางกลับ คนฟังจะอยู่ร่วมฟังงาน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงทยอยกลับเช่นกัน

         เพลงโคราชสมัยก่อน ได้ไปเล่นหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุรินทร์ ตลอดจนถึงประเทศกัมพูชา สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ก็ไปเล่นเป็นครั้งคราว ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟัง เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ผู้ฟัง ในจังหวัดนครราชสีมาเอง ก็เสื่อมความนิยมลงมาก บ้างก็เห็นว่า เพลงโคราช เป็นเพลงหยาบคาย และไม่น่าสนใจ แม้ทางราชการส่งเสริม ให้นำออกแสดง ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ก็ต้องผ่านการตรวจ อย่างรัดกุม จะใช้ภาษาตรง ๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้ถือว่าไม่เหมาะสม
         ในการจัดงานฉลองสมโภชใดๆ มักจะมีมหรสพอื่นๆ เป็นคู่แข่งมากมาย เช่น ภาพยนตร์ มวย เพลงลูกทุ่ง ลิเก และรำวง เพลงโคราชจึงเป็นที่สนใจ สำหรับผู้ฟังรุ่นเก่าที่มีอายุค่อนข้างสูงแทบทั้งนั้น หมอเพลงโคราช ได้รวมตัวกัน เป็นคณะเพลงโคราช หลายคณะ และเข้ามาตั้งสำนักงานคณะ อยู่ในอำเภอเมืองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวก สำหรับมาติดต่อ หาเพลงไปเล่น หมอเพลงโคราช ต้องเล่นเพลงประยุกต์ ตามใจผู้ฟัง เช่น เล่นเพลงหมอลำ เล่นเพลงลำตัด และเพลงลูกทุ่ง พูดถึงท่ารำแตกต่างกันไป มีเพลงโคราชของคณะทองสุข กำปัง ที่ประยุกต์ เล่นแบบลำเพลิน คือนำเอาดนตรีสากล เข้ามาประกอบ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

         การรวมตัวกันเป็นคณะเพลงโคราชปัจจุบันนั้น นางสองเมือง อินทรกำแหง  เป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้นเป็นคนแรก   เมื่อปี พ.ศ. 2499      ตั้งอยู่ที่   ถนนสุรนารายณ์และต่อมาก็มีคณะต่าง ๆ ตั้งขึ้นอีกหลายคณะ ข้อดีคือ ทำให้สะดวก ในการติดต่อจ้างไปเล่น ข้อเสียคือ เมื่อหมอเพลงอยู่คณะเดียวกัน ก็รู้ชั้นเชิงและฝีปากกัน ทำให้ฟัง ไม่สนุกสนาน มีผู้พยายามจะรวมคณะเพลงโคราชต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพลงโคราช แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จากหมอเพลงเท่าที่ควร
         จากความเชื่อที่ว่า ท่านท้าวสุรนารี ( คุณหญิงโม หรือ ย่าโมที่ชาวบ้านเรียกท่าน ) ชอบเพลงโคราช ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ จึงมีผู้หาเพลงโคราชไปเล่นให้ท่านฟัง เป็นการแก้บน ณ บริเวณใกล้ ๆ กับอนุสาวรีย์ ในตอนกลางคืนเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้จักเพลงโคราช และหมอเพลงมีรายได้ประจำ แต่ก็มีผู้สนใจไปฟังไม่มากนัก
 
        พูดถึงการดำเนินชีวิตของหมอเพลงรุ่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาชีพทำนา และเล่นเพลงเป็นอาชีพรอง แต่หมอเพลง ที่มีชื่อเสียงเช่น ลอยชาย แพรกระโทก, ลำดวน จักราช, ทองสุข กำปัง, นกน้อย วังม่วง, รำไพ หัวรถไฟ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประกอบอาชีพ ของหมอเพลงโคราชยังทำรายได้ดี ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอยู่ หมอเพลงดังกล่าวนี้ แม้จะประกอบอาชีพอื่น เช่น ทำนา ทำไร่ เป็นนักธุรกิจ แต่อาชีพหลักคือเล่นเพลงโคราช   

 ----------------------
ที่มา ของดีโคราชเล่มที่ 4 สาขาการกีฬาและนันทนาการ  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏ นครราชสีมา, 2538
 

1 ความคิดเห็น: